ตำลึง ผักสวนครัว ลดเบาหวาน

ตำลึง ผักสวนครัวอีกชนิดหนึ่งที่นิยมนำมารับประทาน เป็นผักที่ขึ้นง่าย หารับประทานกันได้ตลอดทั้งปี ตำลึง(Ivy gourd) แคเด๊าะ ผักแคบ ผักตานิน ตำลึงเป็นผักที่ให้พลังงานต่ำและมีคุณค่าทางโภชนาการสูงประกอบด้วยเบต้าแคโรทีน (carotene) ซึ่งเป็นแหล่งของวิตามินเอ วิตามินซี แคลเซียม โปรตีน และเส้นใยอาหาร ในตำรา ยาพื้นบ้านของไทย มีการใช้รากตำลึงแก้ดวงตาเป็นฝ้า แก้โรคตา ดับพิษทั้งปวง แก้ไข้ทุกชนิด แก้เบาหวาน ส่วนของต้นใช้กำจัดกลิ่นตัว น้ำจากต้นใช้รักษาเบาหวาน ส่วนของใบใช้แก้ไข้ ดับพิษร้อน ถอนพิษทั้งปวง แก้คัน แก้แมลงกัดต่อย เป็นยาโรคผิวหนัง แก้เบาหวาน และผลใช้แก้ฝีแดง ในอินเดียและ บังคลาเทศจะใช้ส่วนของรากและใบในการรักษาเบาหวาน การศึกษาองค์ประกอบทางเคมีพบว่า

ใบ ประกอบด้วย สารเบต้าแคโรทีน เบต้าไซโตสเตอรอล (sitosterol)  พอลิพรีนอล (polyprenol)  วิตามินซี วิตามินอี  วิตามินเค  แทนนิน โปรตีน โปแตสเซียม

ผล ประกอบด้วย สารคิวเคอร์บิตาซิน บี (cucurbitacin B) สารประกอบตัวเดียวกับ มะระขี้นก บีตา แคโรทีน ไลโคปีน (lycopene) คริพโตแซนทิน (cryptoxanthin) เบต้าไซโตสเตอรอล เดาโคสเตอรอล (daucosterol) ทาราซีโรน (taraxerone) ทาราซีรอล (taraxerol) ลูพีออล (lupeol) บีตาอะไมริน (amyrin) วิตามินซี เส้นใย โปรตีน และเพกติน (pectin)

ราก ประกอบด้วย สารคอกซินิโคไซด์ เค (coccinioside-K) ลูพีออล บีตาอะไมริน บีตาไซโตสเตอรอล

เมล็ด ประกอบด้วย กรดไขมัน ได้แก่ กรดปาล์มิติก (palmitic acid) โอเลอิก (oleic acid) ลิโนเลอิก (linoleic)

จากสรรพคุณของไทยและต่างประเทศพบว่า ตำลึงสามารถในการรักษา เบาหวาน มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่มาสนับสนุนสรรพคุณในการรักษาเบาหวานของตำลึง โดยศึกษาทั้งในสัตว์ทดลองปกติและที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวาน และมีการนำเกือบทุกส่วนของตำลึงมาใช้ในการศึกษา ได้แก่ ใบ ผล เถา ส่วนเหนือดิน และราก เป็นต้น พบว่าตำลึงมีผลลดน้ำตาลในเลือดได้ดีเทียบเท่าหรือดีกว่ายาแผนปัจจุบัน โดยสารสกัดลำต้นตำลึงมีฤทธิ์กระตุ้นการนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ เพิ่มระดับอินซูลิน ทำให้มีการสังเคราะห์ไกลโคเจนเพิ่มขึ้น และลดการเปลี่ยนไกลโคเจนมาเป็นกลูโคสเป็นผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง นอกจากนี้สารสกัดจากใบและส่วนเหนือดินยังมีผลในการ ลดไขมันด้วย

สำหรับการศึกษาทางคลินิกในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานระยะเริ่มต้น (ระดับน้ำตาลในเลือด 110-180 มก./ดล.) ซึ่งได้รับสารสกัดด้วย 50% แอลกอฮอล์จากใบและผล ขนาด 1 ก./วัน เป็นเวลา 90 วัน พบว่าผู้ป่วยจะมีระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง (fasting blood glucose) และหลังจากรับประทานอาหารไปแล้ว 2 ชั่วโมง (postprandial blood glucose) ลดลงร้อยละ 16 และ 18 ตามลำดับ และยังมีผลลดน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือด (HbA1c) แต่ไม่มีผลต่อระดับไขมันในเลือด และไม่มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย  เมื่อให้ผู้ป่วยเบาหวานรับประทานยาเม็ดผงแห้งจากใบตำลึง ครั้งละ 3 เม็ด (ไม่ระบุปริมาณผงแห้ง/เม็ด) วันละ 2 ครั้ง นาน 6 สัปดาห์ จากนั้นทำการทดสอบความทนทานต่อน้ำตาล (oral glucose tolerance test) โดยให้กลูโคส 50 ก. วัดระดับน้ำตาลในเลือดก่อนและหลังทำการทดสอบ พบว่าผู้ป่วยมีความทนต่อกลูโคสดีขึ้นและไม่พบความผิดปกติของน้ำหนักตัว ค่าทางโลหิตวิทยา เอนไซม์แอสพาร์เทตทรานส์อะมิเนส (aspartate transaminase) อะลานีนทรานส์อะมิเนส (alanine transaminase) ยูเรีย และไตของผู้ป่วย และ ในผู้ป่วยเบาหวานที่รับประทานสารสกัดจากตำลึง (ไม่ระบุส่วนที่ใช้และตัวทำละลาย) ขนาด 500 มก./กก./วัน เป็นเวลา 6 สัปดาห์ พบว่าสารสกัดมีผลลดระดับของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสลายกลูโคส ได้แก่ กลูโคส-6-ฟอสฟาเตส (glucose-6-phosphatase) และแลกเตตดีไฮโดรจิเนส (lactate dehydrogenase) และเพิ่มระดับของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสลายไขมัน คือ ลิโปโปรตีนไลเปส (lipoprotein lipase) แสดงว่าสารสกัดจากตำลึงทำหน้าที่คล้ายกับอินซูลินในยับยั้งการสร้างน้ำตาลและกระตุ้นการสลายไขมันซึ่งช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดผู้ป่วยได้ การศึกษาในอาสาสมัครสุขภาพดีที่รับประทานอาหารเช้าที่ประกอบด้วย ใบตำลึง 20 ก. ผสมกับมะพร้าวและเกลือ จากนั้นทำการทดสอบความทนทานต่อน้ำตาล โดยให้รับประทานกลูโคส 70 ก. และวัดระดับน้ำตาลในเลือด พบว่าใบตำลึงมีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดของอาสาสมัครได้

ข้อมูลจากผลการศึกษาวิจัย จะเห็นว่าตำลึงมีผลลดน้ำตาลในเลือดได้ และนับเป็นพืชสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่มีศักยภาพในการที่จะนำมารักษาเบาหวาน แม้ว่ารายงานวิจัยในคนมีจำนวนไม่มากนัก แต่การใช้ในรูปแบบพื้นบ้าน และการรับประทานเป็นอาหาร อาจจะช่วยเสริมให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถควบคุมระดับน้ำตาล ในเลือดได้ และที่แน่นอนก็คือ ได้รับประโยชน์จากสารอาหารต่างๆ ที่มีในตำลึงด้วยนั่นเอง

 

%ข 16, 2022